หนังสือเดินทาง - ผู้เยาว์

หนังสือเดินทาง - ผู้เยาว์

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 ก.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 11 เม.ย. 2567

| 1,883 view

การทำหนังสือเดินทาง - ผู้เยาว์ (E-PASSPORT)

ผู้เยาว์ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี มีสัญชาติไทยที่พำนักอาศัยในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์สามารถขอทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่ได้ที่ สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ ได้โดยจัดเตรียมเอกสารดังต่อไปนี้

เอกสารที่ใช้ในการยื่นคำร้องขอทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่

เอกสารของผู้เยาว์

  1. แบบคำร้องนิติกรณ์
  2. แบบคำร้องขอทำหนังสือเดินทางไทย
  3. สูติบัตรไทย (ตัวจริง)
  4. หนังสือเดินทางเล่มเดิม
  5. ใบแสดงการมีถิ่นพำนักในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (Residence Visa) / บัตรประจำตัวเอมิเรตส์ (Emirates ID)
  6. บัตรประจำตัวประชาชนไทย
  7. หนังสือรับรองการศึกษาจากสถานศึกษา (กรณีที่ผู้เยาว์ยังไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนไทย)
  8. สำเนาทะเบียนบ้านไทย
  9. สำเนาใบเปลี่ยนชื่อและใบเปลี่ยนนามสกุล (หากมี)
  10. ใบแจ้งความ - กรณีที่หนังสือเดินทางสูญหาย (ฉบับภาษาอังกฤษ)

เอกสารของบิดาและมารดา

  1. หนังสือเดินทาง
  2. ใบแสดงการมีถิ่นพำนักในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (Residence Visa) / บัตรประจำตัวเอมิเรตส์ (Emirates ID)
  3. บัตรประจำตัวประชาชนไทย (กรณีที่เป็นคนไทย)
  4. สำเนาทะเบียนบ้านไทย (กรณีที่เป็นคนไทย)
  5. ใบทะเบียนสมรส / ใบทะเบียนฐานะทางครอบครัว
    ในกรณีที่ใบทะเบียนสมรสที่ไม่ใช่การจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทย ผู้ร้องจะต้องมีการจัดเตรียมใบทะเบียนสมรส (ฉบับภาษาอังกฤษ) - ที่ผ่านการรับรองเอกสารจากกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศเมืองดูไบ/ชาร์จาห์ (Ministry of Foreign Affairs and International Cooperation, Dubai/Sharjah)
  6. สำเนาใบเปลี่ยนชื่อและใบเปลี่ยนนามสกุล (หากมี)

คลิ๊ก >> เพื่อทำการนัดหมาย (สถานกงสุลใหญ่ฯ ขอสงวนพื้นที่เฉพาะผู้จองคิวออนไลน์ก่อนมารับบริการเท่านั้น)

การยื่นเอกสาร

สถานกงสุลใหญ่ฯ เปิดรับคำร้องสำหรับการทำหนังสือเดินทาง - ผู้เยาว์ ในวันทำการ (จันทร์ - ศุกร์) เวลา 14.00 - 16.00 น.
ยกเว้นวันหยุดราชการ

ค่าธรรมเนียมการทำหนังสือเดินทาง

หนังสือเดินทางอายุใช้งาน 5 ปี มีค่าธรรมเนียม 130 ดีแรห์ม
(ชำระเป็นเงินสดเท่านั้น)

การรับเล่มหนังสือเดินทาง

เมื่อสถานกงสุลใหญ่ฯ ได้รับหนังสือเดินทางเล่มใหม่ของผู้ร้องแล้ว เจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ทราบทางอีเมล์ที่ผู้ร้องได้ให้ข้อมูลไว้ ซึ่งโดยปกติการขอทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่จะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 3 - 4 สัปดาห์ นับจากวันที่ยื่นคำร้องฯ เนื่องจากเป็นการผลิตเล่มที่ประเทศไทย (ทั้งนี้ทั้งนั้น หนังสือเดินทางเล่มใหม่อาจมีความล่าช้า หากเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ยาวต่อเนื่อง สถานกงสุลใหญ่ฯ ต้องขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ ที่นี้)

ผู้ร้องสามารถมารับหนังสือเดินทางเล่มใหม่ได้ โดยนำหนังสือเดินทางเล่มเดิมและใบเสร็จรับเงินมารับได้ในวันทำการ จันทร์ - ศุกร์ ระหว่างช่วงเวลา 14.00 - 16.00 น.

ข้อควรทราบ

  • บิดาและมารดา จะต้องมาแสดงตนด้วยตนเอง พร้อมกับผู้เยาว์ในวันที่ทำหนังสือเดินทาง
  • กรณีบิดาหรือมารดาไม่สามารถมาแสดงตัวได้ ฝ่ายที่มาแสดงตัวไม่ได้ จะต้องมีหนังสือให้ความยินยอมให้ผู้เยาว์เดินทางมายื่นให้กับเจ้าหน้าที่
  • กรณีบิดาหรือมารดาของผู้เยาว์เป็นชาวต่างชาติ มิได้จดทะเบียนสมรส หรือไม่สามารถตามหาอีกฝ่ายหนึ่งมาให้ความยินยอมได้ จะต้องมีหลักฐานการมีสิทธิปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว (ปค. 14)
  • กรณีที่มีการหย่า
    ทะเบียนหย่าตามกฎหมายไทย จะต้องยื่นใบทะเบียนหย่าเป็นเอกสารประกอบ โดยต้องมีข้อความที่ระบุชัดเจนถึงอำนาจในการปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว
    ทะเบียนหย่าที่ไม่ใช่การจดทะเบียนหย่าตามกฎหมายไทย ผู้ร้องจะต้องมีการจัดเตรียมใบทะเบียนหย่า โดยต้องมีข้อความที่ระบุชัดเจนถึงอำนาจในการปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว (ฉบับภาษาอังกฤษ) - ที่ผ่านการรับรองเอกสารจากกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศเมืองดูไบ/ชาร์จาห์ (Ministry of Foreign Affairs and International Cooperation, Dubai/Sharjah)
  • กรณีบิดาหรือมารดาเสียชีวิต จะต้องยื่นใบมรณบัตรเป็นเอกสารประกอบ
  • ผู้เยาว์ที่เกิดในต่างประเทศและยังไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านไทย สามารถขอทำหนังสือเดินทางเล่มแรกที่สถานกงสุลใหญ่ฯ (อายุใช้งานไม่เกิน 5 ปี) เท่านั้น และเมื่อได้รับหนังสือเดินทางเล่มแรกแล้ว บิดา/มารดาต้องนำสูติบัตรของผู้เยาว์ไปยื่นต่อเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานเขต/ที่ว่าการอำเภอที่ประเทศไทย เพื่อนำชื่อของผู้เยาว์เข้าทะเบียนบ้านให้เรียบร้อย หากชื่อของผู้เยาว์ไม่ปรากฎอยู่ในทะเบียนบ้าน ผู้เยาว์จะไม่สามารถทำหนังสือเดินทางเล่มที่ 2 ได้
  • เมื่อผู้เยาว์มีอายุครบ 7 ปีบริบูรณ์ ที่ยังไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนไทย จะต้องยื่นหนังสือรับรองการศึกษาจากสถานศึกษามาประกอบการทำหนังสือเดินทางด้วยเช่นเดียวกัน



*** กรุณาเตรียมเอกสารสำคัญให้ครบถ้วนตามที่ระบุข้างต้น สถานกงสุลใหญ่ฯ สงวนสิทธิ์ ในการปฏิเสธการรับคำร้อง หากผู้ยื่นคำร้องยื่นเอกสารสำคัญไม่ครบถ้วน ***