สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประกาศนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ที่พำนักอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมายเป็นเวลา 2 เดือน
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประกาศนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ที่พำนักอยู่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยให้โอกาสแก่ชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์โดยไม่ได้รับการตรวจลงตราที่ถูกต้อง ในการเปลี่ยนแปลงสถานะการพำนัก หรือ เดินทางออกจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์โดยไม่ต้องชำระค่าปรับ
กำหนดระยะเวลา
วันที่ 1 กันยายน – 31 ตุลาคม 2567 (2 เดือน)
บุคคลที่เข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรม
- ผู้ถือวีซ่าท่องเที่ยว/เยี่ยมเยือน (Tourist/Visit) ที่พำนักอยู่เกินกำหนดวีซ่า (Over stay)
- ผู้ถือวีซ่าที่มีถิ่นพำนัก (Residence Visa) ที่หมดอายุและพำนักอยู่เกินกำหนด หรือถูกยกเลิกและพำนักอยู่เกินกำหนดระยะเวลาที่ผ่อนผันให้ (Over stay)
- ผู้ถือวีซ่าทำงาน (Employment Visa) ที่หมดอายุและพำนักอยู่เกินกำหนด หรือถูกยกเลิกและพำนักอยู่เกินกำหนดระยะเวลาที่ผ่อนผัน (Over stay) หรือผู้ที่กระบวนการขอวีซ่าทำงานยังไม่เสร็จสมบูรณ์แต่พำนักอยู่เกินกำหนดระยะเวลาที่ผ่อนผันให้ (Over stay)
- ผู้ที่ถูกขึ้นทะเบียนว่าหลบหนีวีซ่า (absconding Report)
- ผู้ที่เกิดในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์โดยที่มารดาไม่ได้แจ้งขอสถานะภายในระยะเวลา 4 เดือนหลังคลอด
บุคคลที่ไม่เข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรม
- ผู้ถือวีซ่าท่องเที่ยว/เยี่ยมเยือน (Tourist/Visit) ที่หมดอายุหลังจากวันที่ 1 ก.ย. ค.ศ. 2024
- ผู้ถือวีซ่าที่มีถิ่นพำนัก (Residence Visa) ที่หมดอายุหลังจากวันที่ 1 ก.ย. ค.ศ. 2024
- ผู้ที่ถูกขึ้นทะเบียนว่าหลบหนีวีซ่า (absconding Report) หลังจากวันที่ 1 ก.ย. ค.ศ. 2024
- ผู้ถูกจับและถูกเนรเทศ (deportation) บุคคลที่ถูกเนรเทศจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ ประเทศในกลุ่ม GCC
- ผู้ที่ลักลอบเข้ามายังประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อย่างผิดกฏหมายไม่ผ่านการตรวจลงตราจากด่านตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) โดยหลบหนีเข้ามายังยูเออีผ่านช่องทางธรรมชาติ จะต้องถูกจับกุม และดำเนินคดีตามกฎหมาย
สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากการนิรโทษกรรม
- ขอพำนักอยู่ต่อด้วยการปรับเปลี่ยนสถานะวีซ่าใหม่ โดยไม่ต้องเสียค่าปรับ
- ขอใบอนุญาตออกนอกประเทศ (Out Pass/ Exit Pass) โดยไม่เสียค่าปรับการพำนักอยู่เกินกำหนดวีซ่า (Over stay)
- บุคคลที่เคยได้รับใบอนุญาตออกนอกประเทศแต่ใบอนุญาตฯ หมดอายุแล้ว สามารถยื่นขอใหม่และเดินทางออกนอกประเทศได้โดยได้รับการยกเว้นค่าปรับ
- ผู้ที่เกิดในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์โดยที่มารดาไม่ได้แจ้งขอสถานะภายในระยะเวลา 4 เดือนหลังคลอด สามารถขอแจ้งสถานะใหม่ หรือสามารถยื่นขอใบอนุญาตออกจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์พร้อมกับมารดาได้
- จะไม่มีการเรียกเก็บค่าปรับหรือค่าธรรมเนียมการออกนอกประเทศในกรณีที่อยู่เกินกำหนดวีซ่า และผู้ที่เลือกที่จะเดินทางออกจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สามารถเดินทางกลับเข้ามาได้อีกครั้งด้วยวีซ่าที่ถูกต้องโดยไม่ถูกขึ้นบัญชีดำ (Blacklist)
ระยะเวลาของใบอนุญาตออกนอกประเทศ (Out Pass/Exit Pass)
ใบอนุญาตออกนอกประเทศ (Out Pass/Exit Pass) ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีอายุ 14 วัน เท่านั้น ผู้ที่ไดัรับการนิรโทษกรรมต้องเดินทางออกจากประเทศภายในช่วงระยะเวลาที่กำหนด หากไม่เดินทางออกจะต้องชำระค่าปรับ
การยื่นขอนิรโทษกรรม
- สามารถดำเนินการยื่นขอนิรโทษกรรมออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของ Federal Authority, Citizenship, Customs and Port Security (ICP) gov.ae หรือยื่นผ่านช่องทาง smart channel
- ผู้ยื่นขอใบอนุญาตเดินทางออกนอกประเทศจะได้รับใบอนุญาตออกนอกประเทศโดยตรง
- เมื่อยื่นขอนิรโทษกรรมแล้ว เฉพาะบุคคลที่ได้รับข้อความแจ้งจากระบบ เนื่องมากจากการบันทึกข้อมูลชีวภาพไม่ครบถ้วน จะต้องไปแสดงตัวเพื่อยืนยันตัวบุคคลและเก็บข้อมูลชีวภาพที่ศูนย์บริการ (ข้อความที่ได้รับจะระบุสถานที่ตั้งของศูนย์ที่ผู้ร้องจะต้องไปแสดงตัว) หลังจากดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วจึงจะมีสิทธิได้รับใบอนุญาตออกนอกประเทศ ทั้งนี้ การเก็บข้อมูลชีวภาพสำหรับผู้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปเท่านั้น
ศูนย์ที่ให้บริการเก็บข้อมูลชีวภาพ พิมพ์ลายนิ้วมือมีดังนี้
- รัฐอาบูดาบี General Directorate of Residency and Foreigners Affairs (GDRFA) ศูนย์บริการ Al Dhafra, Sweihan, Al maqam, และ Al Shahama
- รัฐดูไบ General Directorate of Residency and Foreigners Affairs (GDRFA) ศูนย์บริการ Al Awir
- รัฐอื่นๆ General Directorate of Residency and Foreigners Affairs (GDRFA) ของแต่ละรัฐ
เอกสารที่ใช้ในการยื่นขอนิรโทษกรรม
- หนังสือเดินทางฉบับจริง/ เอกสารเดินทางฉุกเฉินที่ สอท. / สกญ. ออกให้ ในกรณีหนังสือเดินทางหมดอายุหรือหนังสือเดินทางสูญหาย (กรณีหนังสือเดินทางสูญหาย จำเป็นต้องแจ้งความหนังสือเดินทางสูญหายและมีใบแจ้งความหนังสือเดินทางสูญหาย ที่ออกโดยตำรวจ)
- บัตรโดยสารเครื่องบิน (กรณีขอใบอนุญาตออกนอกประเทศ)
- เอกสารเกี่ยวข้องอื่นๆ ในกรณีที่ จนท. เรียกขอเพิ่มเติม
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ :
- ศูนย์บริการ ICP เบอร์โทรศัพท์ 600 522222
- Live chat – icp.gov.ae
- ศูนย์บริการ Amer (ดูไบ) เบอร์โทรศัพท์ 800 511
- ศูนย์บริการ Ministry of Human Resources & Emiratisation (MOHRE) เบอร์โทรศัพท์ 600590000
- ช่องทางโซเชี่ยลของ ICP และ กรมการถิ่นพำนักและกิจการชาวต่างชาติดูไบ GDRFAD ทุกช่องทาง
*********
ฝ่ายกงสุล
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ
2 กันยายน 2567