สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ เข้าร่วมในการพบหารือระหว่างคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร กับศูนย์อวกาศโมฮัมหมัด บิน ราชิดของดูไบ

สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ เข้าร่วมในการพบหารือระหว่างคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร กับศูนย์อวกาศโมฮัมหมัด บิน ราชิดของดูไบ

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 พ.ค. 2568

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 8 พ.ค. 2568

| 44 view
01
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ เข้าร่วมในการพบหารือระหว่างคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร กับศูนย์อวกาศโมฮัมหมัด บิน ราชิดของดูไบ
 
เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๖๘ นางสาวนิภา นิรันดร์นุต กงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ เข้าร่วมการหารือระหว่างคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร นำโดยนายสยาม หัตถสงเคราะห์ ประธานคณะกรรมาธิการ กับผู้บริหารศูนย์อวกาศโมฮัมหมัด บิน ราชิด (Mohammed Bin Rashid Space Centre – MBRSC) ซึ่งเป็นองค์กรหลักด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) โดยมี H.E. Salem Humaid AlMarri, Director General ของศูนย์ฯ พร้อมผู้บริหาร ให้การต้อนรับและบรรยายเกี่ยวกับภารกิจของศูนย์ ความสำเร็จและเป้าหมายด้านการสำรวจอวกาศของยูเออี รวมถึงภารกิจการส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศสำเร็จถึง 10 โครงการและเข้าสู่วงโคจรรอบดาวอังคาร (Hope Probe) โครงการพัฒนานักบินอวกาศ โดยปัจจุบันมีนักบินอวกาศชาวยูเออี ๔ คน และเป็นคนแรกของภูมิภาคตะวันออกกลางที่เข้าร่วมปฏิบัติภารกิจบนสถานีอวกาศนานาชาตินานถึง ๖ เดือน และการพัฒนาโครงการสำรวจดวงจันทร์และดาวอังคาร อาทิ การสร้างยานสำรวจ Rashid Rover สถานีอวกาศ Emirates Airlock Gateway ตลอดจนแผนส่งมนุษย์ไปดาวอังคาร UAE 2117 Mars Expedition
 
ในโอกาสนี้ กงสุลใหญ่ฯ และคณะได้แสดงความชื่นชมความสำเร็จและวิสัยทัศน์ของยูเออี และหารือแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย โดยเฉพาะกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เพื่อแลกเปลี่ยนบุคลากรและความเชี่ยวชาญด้านการผลิตดาวเทียม การส่งการทดลองทางวิทยาศาสตร์ในอวกาศของไทยเข้าร่วมในโครงการ Payload Hosting Initiative ของยูเออี ตลอดจนการใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียม MBZSat ที่มีความคมชัดระดับสูงในการบริหารจัดการเมือง ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม การเกษตร การป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้บริหารศูนย์ฯ ได้นำคณะฝ่ายไทยชมห้องปฏิบัติการควบคุมการโคจรของดาวเทียม และห้องทดลองวิจัยและสร้างดาวเทียมจากวัสดุที่ผลิตในยูเออีทั้งหมด

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ