สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ นำคณะผู้บริหารศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล และผู้ประกอบการ SMEs ด้านฮาลาลของไทย พบหารือประธานหอการค้าดูไบ (Dubai Chambers)

สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ นำคณะผู้บริหารศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล และผู้ประกอบการ SMEs ด้านฮาลาลของไทย พบหารือประธานหอการค้าดูไบ (Dubai Chambers)

วันที่นำเข้าข้อมูล 4 ต.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 4 ต.ค. 2567

| 84 view

01  

สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ นำคณะผู้บริหารศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล และผู้ประกอบการ SMEs ด้านฮาลาลของไทย พบหารือประธานหอการค้าดูไบ (Dubai Chambers)
 
เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 นางสาวนิภา นิรันดร์นุต กงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ นำคณะศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย ผศ.ดร. ภราดร สุรีย์พงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ พร้อมด้วยคณะผู้ประกอบการ SMEs และข้าราชการสถานกงสุลใหญ่ และข้าราชการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล เข้าพบนาย Muhammad Lootah ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (President & CEO) หอการค้าดูไบ (Dubai Chambers) โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของหอการค้าดูไบร่วมด้วย
ในการหารือ ประธานหอการค้าดูไบได้กล่าวถึงความประทับใจระหว่างการเยือนไทยของตนเมื่อเดือน พ.ค. 2567 และต้อนรับคณะที่มาศึกษาลู่ทางการส่งเสริมตลาดสินค้าฮาลาลในยูเออี โดยเฉพาะสินค้าเกษตรของไทยที่มีคุณภาพ ซึ่งจะสามารถเชื่อมต่อกับแผนการพัฒนาตลาดผักและผลไม้ขนาดใหญ่ในดูไบที่จะมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ตามวิสัยทัศน์ของเจ้าผู้ครองรัฐดูไบ
 
กงสุลใหญ่ฯ ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลให้ความสําคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางฮาลาลของอาเซียน (ASEAN Halal Hub) ภายในปี 2570 ไทยมีผู้ประกอบการฮาลาลแข็งแกร่งกว่า 15,000 ราย มีสินค้าฮาลาลกว่า 166,000 รายการ พร้อมร้านอาหารฮาลาลอีก 3,500 ร้าน โดยปี 2566 ขึ้นแท่นผู้ส่งออกอาหารฮาลาลอันดับ 11 ของโลก นอกจากนี้ ได้แสดงความยินดีที่ความสัมพันธ์ระหว่างภาคเอกชนไทย-ยูเออี มีความแน่นแฟ้น โดยประธานสภาหอการค้าไทยมีกำหนดจะนำคณะจากไทยเยือนยูเออี ระหว่างวันที่ 11-12 พฤจิกายน 2567 ซึ่งจะมีการพบกับประธานหอการค้าดูไบและลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกันด้วย ปฏิสัมพันธ์ระหว่างภาคเอกชนช่วยส่งเสริมพลวัตความสัมพันธ์ทวิภาคี ปูทางไปสู่การเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-ยูเออี ปีหน้า 2568
ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล ได้แนะนำภารกิจและพันธกิจของศูนย์ฯ โดยเฉพาะในการส่งเสริมการขยายตลาดสินค้าฮาลาลของ SMEs ไทย โดยได้เปิดโอกาสให้ SMEs ที่ร่วมคณะมาได้แนะนำตัวกับคณะผู้บริหารของหอการค้าดูไบ จากนั้น คณะได้รับฟังการบรรยายและร่วมแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้แทนหน่วยงานสำคัญของดูไบ คือ Halal Trade & Marketing Center และ Dubai Airport Freezone
 
การเยือนเมืองดูไบของผู้บริหารศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและผู้ประกอบการ SMEs ระหว่างวันที่ 30 กันยายน – 2 ตุลาคม 2567 อยู่ภายใต้โครงการ “ยกระดับเกษตรกรผู้ปลูกพืชสมุนไพรและวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตเครื่องสำอางฮาลาลสู่ตลาดใหม่มุสลิมตะวันออกกลาง” เพื่อเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ของไทยให้สามารถผลิตและส่งออกสินค้าที่ตรงตามความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคตลาดมุสลิม

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ